ประวัติของโรงเรียน

          โรงเรียนวัดหัวป่า (รักเมืองไทย ๓๘) จัดตั้งเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๔๗๕ โดยความเห็นชอบของ เจ้าคณะโรดม เจ้าคณะรองหนใต้ ในสมัยนั้น โดยมีฐานะเป็นโรงเรียนวัด เปิดสอนครั้งแรกโดยมี สามเณร หนูแก้ว หวานนุ่น (ป.๓) เป็นครูผู้สอน
          ต่อมาขอเปิดเป็นโรงเรียนประชาบาลและได้รับการอนุมัติ เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๗๖ โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนประชาบาลตำบลตะเครียะ ๓ วัดหัวป่า” แต่ยังคงใช้ศาลาวัดเป็นสถานที่เรียน เมื่อมีนักเรียนเพิ่มขึ้นทำให้สถานที่เรียนเดิมไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน ทางราชการได้อนุมัติเงิน จำนวน ๘๐๐ บาท เพื่อให้จัดสร้างอาคารเรียน และพระครูปลอด บุญญสโร เจ้าอาวาสวัดหัวป่า ได้หาเงินมาสมทบอีกจำนวนหนึ่ง จึงสามารถสร้างเป็นอาคารเรียนหลังแรกขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ขนาดกว้าง ๓ เมตร ยาว ๒๔ เมตร และสามารถเปิดเรียนได้ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔
          ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ มีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น ทางราชการได้อนุมัติงบประมาณเพื่อใช้จัดสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติม โดยพระครูพิศิษฐ์ บุญญสาร(ปลอด บุญญสโร) เจ้าอาวาสวัดหัวป่าและคณะกรรมการของโรงเรียนได้พิจารณาแล้วเห็นว่าบริเวณที่ตั้งโรงเรียนสมควรย้ายไปตั้งในสถานที่แห่งใหม่ซึ่งเป็นที่ดินของวัดจำนวน ๒ แปลง รวมกับที่ดินของนายเชือน-นางจู้ลิ่ม รัตนชาติ บริจาคสมทบอีก ๓ ไร่ ๑๑ ตารางวา เพื่อจัดสร้างอาคารเรียนแบบ สปช.๐๑๗ ขนาดแปดห้องเรียน จำนวน ๑ หลัง และได้ย้ายนักเรียนบางส่วนมาเรียนในสถานที่แห่งใหม่
          ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ทางราชการได้อนุมัติให้เปิดสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ โรงเรียนได้รับงบประมาณให้จัดสร้างอาคารเรียนกึ่งถาวร ๑ หลัง จำนวน ๓ ห้องเรียน และในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับงบประมาณให้จัดสร้างอาคารเรียน แบบ สปช. ๐๑๗ ใต้ถุนโล่ง ๑ หลัง ขนาด ๕ ห้องเรียน และในปีพ.ศ. ๒๕๒๗ ได้รับงบประมาณให้จัดสร้างอาคารอเนกประสงค์แบบ สปช. ๒๐๓/๒๖ จำนวน ๑ หลัง
          ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ โรงเรียนได้รับอนุญาตให้เปิดสอนชั้นอนุบาล ๑ และระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ในโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา ซึ่งมีนักเรียนจำนวน ๓๓ คน โดยคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้นำชุมชน ผู้ปกครองและนักเรียน ได้ร่วมกันจัดให้มีการทอดผ้าป่า เพื่อหาเงินสนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียน ได้เงินประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท
          ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ โรงเรียนได้รับงบประมาณให้จัดสร้างอาคารเรียนแบบ สปช. ๑๐๕/๒๙ ใต้ถุนโล่งขนาด ๔ ห้องเรียน จำนวน 1 หลังและต่อมาทางโรงเรียนได้จัดหาเงินต่อเติมอาคารเรียนชั้นล่าง
          ปี พ.ศ.๒๕๓๙ โรงเรียนวัดหัวป่า (รักเมืองไทย 38) ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนในโครงการปฏิรูปการศึกษาและได้รับงบประมาณในการจัดสร้างห้องปฏิบัติการทางภาษาและห้องวิทยาศาสตร์ในวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ โรงเรียนได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้จัดตั้งมูลนิธิ “คุณครูผัด ฉีฉิ้น จันทน์เสนะ” โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายบัญญัติ จันทน์เสนะ และญาติ ๆ
          ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้มีการปรับปรุงยกระดับสนามกีฬาฟุตบอลริมทะเลสาบ โดยได้รับเงินงบประมาณ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และประชาชนบริจาคอีก ๕๐,๐๐๐ บาท เพื่อใช้เป็นสนามกลางในการแข่งขันกีฬาของ ชุมชุน องค์การบริหารส่วนตำบลและกลุ่มโรงเรียนในศูนย์เครือข่ายการศึกษาตะเครียะ-บ้านขาว
          ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ คณะครูและชุมชนได้ระดมทรัพยากรเพื่อจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน จำนวน ๕ เครื่อง
          ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ โรงเรียนได้รับอุปการะงบประมาณจากมูลนิธิสุขาวดี โดยการประสานงานของ คุณบัญญัติ จันทน์เสนะ จำนวน ๕๖๐,๐๐๐ บาท เพื่อจัดสร้างห้องสมุด ขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร จำนวน ๑ หลัง แต่งบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างไม่เพียงพอ ต้องยืมเงินวัดหัวป่ามาดำเนินการจนแล้วเสร็จ โดยมี ผู้อำนวยการวิระ วัฒิวรรณผล บริจาคประตูเหล็กม้วน คณะครูโรงเรียนวัดหัวป่าร่วมกันบริจาคเหล็กดัดหน้าต่าง กศน.อำเภอระโนดสนับสนุนวัสดุ-ครุภัณฑ์สื่อการเรียนรู้พร้อมสื่อเทคโนโลยี
          วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๘ คณะกรรมการสถานศึกษา คณะครูและชุมชุน ร่วมกันทอดผ้าป่า เพื่อการศึกษา โดยคุณบัญญัติ จันทน์เสนะ ให้เงินสนับสนุน ๑๐๐,๐๐๐ บาท รวมได้เงินจำนวนประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท และในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ วัดหัวป่าบริจาคเงินซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน จำนวน ๑๕๐,๐๐๐ บาท
          ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ โรงเรียนได้รับความอนุเคราะห์จากมูลนิธิรักเมืองไทยโดยการประสานงานของ พณฯ บัญญัติ จันทน์เสนะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย สนับสนุนงบประมาณเพื่อซ่อมแซมปรับปรุงอาคารเรียน อาคารประกอบและห้องน้ำห้องส้วม เป็นเงิน ๑,๒๐๘,๘๕๖ บาท โดยให้หน่วยทหารพัฒนา ที่ ๔๕ จังหวัดสตูล เป็นผู้ดำเนินการ โดยมี พณฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เดินทางมาทำพิธีส่งมอบเมื่อ ๔ มีนาคม ๒๕๕๔
          วันที่ ๓๐ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลา ๑๖.๐๐ น. ได้เกิดอัคคีภัยเนื่องจากไฟฟ้าลัดวงจรภายในอาคารเรียนรักเมืองไทย ๓๘ ชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ ได้ระดมทุนช่วยเหลือเบื้องต้น และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้รับจัดสรรงบประมาณสร้างอาคารเรียนทดแทนอาคารเรียนที่เกิดไฟไหม้ และได้ปรับปรุงพัฒนาห้องพิเศษต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับการใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
          ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงเรียนเมื่อวันที่ ๗ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา มีผู้บริหารโรงเรียนดังนี้
1. นายหนูแก้ว หวานนุ่น
2. นายเขต บุญคงดำ
3. นายผัด จันทน์เสนะ
4. นายกลีบ บัวแดง
5. นายผัด จันทน์เสนะ
6. นายสุข จันทน์เสนะ
7. นายกลบ บัวแดง
8. นายอดล สุวรรณโณ
9. นายเฉี้ยง พรหมเทพ
10. นายสุพรรณ กาฬศิริ
11. นายวิระ วัฒิวรรรผล
12. นายบรรฑิต คงพันธุ์
13. นายจรูญ สุวรรณ
14. นายสมใจ บุญเรืองขาว
15. นายสุทัศน์ พู่ประเสริฐศักดิ์
16. นายอดิศักดิ์ อาทิตยา
17. นายไพบูลย์ สังข์แก้ว
18. นางสาวสุภาพร บุญทวี (ผู้อำนวยการ คนปัจจุบัน)